สติทางการเมือง


เพราะใกล้จะถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปทุกขณะ จึงไม่แปลกอะไรที่จะพบเห็นคำมั่นสัญญา หรือแนวความคิดของผู้สมัคร หลั่งไหลออกมาสู่ระบบสื่อสารสาธารณะอย่างมากมาย เป็นปัญหาที่ประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทุกคน จะต้องนำไปพิจารณาแยกแยะถึงเหตุและผล ประกอบในการตัดสินใจเพื่อเลือกสรรผู้สมัครที่มีแนวความคิดเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน แต่ดูจะเป็นเรื่องยากในการค้นหาความจริงใจ จากคำมั่นสัญญาทั้งหลายเหล่านั้น ของท่าน ๆ 

อันที่จริง ในบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ ประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ย่อมรับรู้ได้ถึงข้อมูลความเป็นไปของผู้สมัครบางคน โดยเฉพาะเลือดเนื้อเชื้อไขของตระกูลนักการเมืองอาชีพ แน่นอนว่าคนเหล่านี้มีฐานเสียงที่มั่นคงภายในพื้นที่ ผ่านทางนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งก็เป็นสายตรงที่ให้การสนับสนุนกันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นบรรดาหัวคะแนนในท้องถิ่น จึงเป็นหลักประกันในความมั่นคงของคะแนนเสียงมาโดยตลอด เว้นแต่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายในพื้นที่ เพราะทายาทของผู้ยิ่งใหญ่รุ่นเก่าหลายคน ไม่มีความสามารถเพียงพอในการดำเนินรอยตามบรรพบุรุษ เหตุผลหนึ่งก็อาจจะมาจาก ความเปลี่ยนแปลงเรื่องแนวความคิดของประชาชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า มาจากการรับรู้ข่าวสาร และมีการวิเคราะห์ด้วยเหตุและผล มากยิ่งขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา

ผู้สมัครซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่บางคน ตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาสำคัญในการพัฒนาประเทศ ว่าเกิดมาจากการทำรัฐประหาร กำหนดแนวนโยบายแน่วแน่ในการเข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดแนวทางและหลักการป้องกันไม่ให้มีการทำรัฐประหาร แนวความคิดตื้น ๆ ง่าย ๆ เช่นนี้ ถูกใจกลุ่มคนที่บูชาลัทธิประชาธิปไตยแบบสุดโต่ง โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การทำรัฐประหาร หมายถึงการล้มล้างระบอบการปกครองที่มีอยู่ในเวลานั้น  หมายถึงการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายทุกฉบับที่มีบังคับใช้อยู่ในช่วงเวลานั้น  ซึ่งโดยสรุปก็คือ การฉีกรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในเวลานั้นทิ้งไปทั้งหมดนั่นเอง 

ดังนั้น ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใดในโลก สามารถห้ามการทำรัฐประหารได้ 

เพราะการทำรัฐประหารทุกครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ล้วนแต่มีเงื่อนไขที่เกิดมาจากปัญหาความขัดแย้ง จากสถานการณ์ทางการเมือง เป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจระหว่างนักการเมืองกับนักการเมืองด้วยกัน โดยทั้งสองฝ่ายอาศัยประชาชนเป็นเครื่องมือ  

นโยบายหลักในการหาเสียงของผู้สมัครทุกพรรค ดูเหมือนจะเน้นไปที่การ "แจกเงิน" ด้วยวิธีการต่าง ๆ บางพรรคระบุจำนวนเงินแจกสำหรับผู้มีรายได้น้อย สูงกว่ารายได้ของคนที่ทำงานหาเช้ากินค่ำเสียอีก แล้วจะไปทำงานให้ลำบากทำไม สู้นอนอยู่บ้านรอรับเงินสวัสดิการไม่ดีกว่าหรือ การเสนอเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทะลุขึ้นไป 600-700 บาทต่อวัน ย่อมจะถูกใจกรรมกรผู้ใช้แรงงานทั่วไป แต่นั่นหมายความว่าต้องมีคนจ้างก่อนด้วย เพราะเชื่อว่ากิจการที่มีอยู่อาจจะต้องเลิกจ้างไปมากกว่าครึ่ง เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมามากมายมหาศาล สูงกว่าผลกำไรที่จะได้รับหลายเท่าตัว การประกาศเพิ่มเงินเดือนคนที่จบปริญญาตรี 25,000 บาท โดยไม่ได้ไตร่ตรองให้รอบคอบถึงตารางบัญชีเงินเดือนของข้าราชการ หรือแม้แต่กิจการของบริษัทเอกชน จะมีสักกี่แห่งที่สามารถจ่ายเงินเดือนสูงในระดับนั้น เมื่อพิจาณาจากงานที่ต้องทำ 

การหาเสียงของผู้สมัคร มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาเสียงเป็นหลัก ลมปากของนักการเมือง จึงเป็นปัญหาของนักการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย ราวกับต้องการจะทดสอบสติปัญญาของประชาชน 

ว่า...หลายปีที่ผ่านมา ประชาชนมีพัฒนาการทางด้าน สติ  ... ปัญญา  ไปมากน้อยเพียงใด ?

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ผ่านไปอีก 1 ปี

วงล้อการเมืองเริ่มหมุน

จักรกลการเมือง