ศักดิ์ศรี ?


ภาพข้างบนนี้ถ่ายเมื่อปลายปี  2520 กับเพื่อนสนิทคนหนึ่งซึ่งเป็นพลทหารกองประจำการผลัดที่ 1 ปี 22520 เช่นเดียวกัน วันที่ถ่ายภาพนี้เราสองคนได้รับยศเป็น สิบตรีกองประจำการ เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยครูฝึกทหารใหม่ผลัดที่ 2 ปี 2520 เสร็จสิ้นลงไป และเตรียมตัวเข้าไปทำหน้าที่ผู้ช่วยครูฝึกทหารใหม่ผลัดที่ 1 ปี 2521 ต่อไปอีก ช่วงเวลานี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงแนวคิด เกี่ยวกับชีวิตทหาร ซึ่งมีมุมมองที่ไม่ค่อยจะดีนักจากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา นับตั้งแต่ได้พบเห็นการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ในสถานศึกษาเดิมขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย กับภาพลักษณ์ของทหารรับจ้างในลาวซึ่งเข้ามารับการฝึกอยู่ภายในพื้นที่ของทหารใกล้บ้าน และเชื่อว่าเป็นแนวความคิดเหมือนกับที่ชาวบ้านทั่วไปส่วนมาก เห็นพ้องต้องกัน ในเรื่องความประพฤติที่เสื่อมเสียมากมาย เพราะการขาดวินัย 

แต่ก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลยว่าในเวลาต่อมา จะต้องมาสวมใส่เครื่องแบบสารวัตรทหาร ที่มีหน้าที่หลักในการกวดขันวินัยทหารโดยตรง และยอมรับว่าเป็น "งาน" ที่ตรงกับความต้องการที่สุด แม้ว่าการปฏิบัติหน้าที่จะไม่ได้ราบรื่นสมหวังไปเสียทุกเรื่อง เพราะต้องยอมรับในข้อเท็จจริงที่ว่า ทหารทุกคนมีทั้งผู้บังคับบัญชาโดยตรง และผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น การกวดขันวินัยทหารนั้นเป็นหน้าที่ขั้นพื้นฐานของผู้บังคับบัญชาเหล่านี้ตามกฎหมายฝ่ายทหารอยู่แล้ว ดังนั้น การหย่อนวินัยของทหารบางคน จึงเป็นความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เว้นเสียแต่ว่า ผู้บังคับบัญชาบางคนกลับกลายเป็นผู้ที่มีวินัยหย่อนยานเสียเอง และเข้ามาทำการปกป้องทหารที่เป็นผู้ใต้บังคัญชาที่กระทำความผิด โดยไม่คำนึงถึงข้อบัญญัติทางกฎหมาย หรือความถูกต้อง หน่วยทหารนั้นก็ย่อมตกเป็นภาระของผู้บังคับบัญชาชั้นสูงอย่างเลี่ยงไม่พ้น ในกรณีที่ความผิดเริ่มขยายวงกว้างออกไปครอบคลุมถึง เรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรม ยาเสพติด หรือการกระทำความผิดอื่น ๆ ติดตามมา โดยเฉพาะเรื่องที่มีผลกระทบหรือเกี่ยวพันไปถึงบุคคลพลเรือน

และต้องยอมรับในข้อเท็จจริงที่ว่า เหตุผลหนึ่งในความท้อแท้ เกิดความท้อถอย บั่นทอนกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ก็คือ ปัญหาที่เกิดจาก ความประพฤติของทหารบางคน ในการแบ่งแยกชนชั้นของกำลังพล ทั้งเรื่องของแหล่งกำเนิด สถานศึกษา บทบาทหน้าที่ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ระบอบอุปถัมภ์ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า "เส้นสาย" ปัญหาเหล่านี้บั่นทอนความมั่นคง และ "ศักดิ์ศรี" ของทหารที่สุด หากให้ความสนใจกับอำนาจจากตำแหน่งหน้าที่ หากให้ความสนใจกับเรื่องการสร้างอิทธิพลด้วยเครื่องแบบทหาร หากให้ความสนใจกับการแสวงหาผลประโยชน์จากยศฐาบรรดาศักดิ์ หากให้ความสนใจกับชื่อเสียงลาภยศทางการเมืองมากกว่าอาชีพของตน 

ศักดิ์ศรีของทหารก็ไม่มีหลงเหลืออยู่พอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อีกต่อไปแล้ว

สังคมยุคใหม่กำลังเปลี่ยนบทบาทของทหาร ให้กลายเป็นชนวนของความขัดแย้งในสังคม จากการกระทำของทหารเพียงไม่กี่คนเท่านั้นเอง ขณะที่ทหารอาชีพอีกมากกว่าร้อยละ 90 ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องยอมก้มหน้ากัดฟัน อดทนอดกลั้นต่อผลกระทบจากเรื่องที่เกิดขึ้น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ผ่านไปอีก 1 ปี

วงล้อการเมืองเริ่มหมุน

จักรกลการเมือง