อำนาจนอกระบบ


ข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 2 เมษายน 2557

เรื่อง ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ 

คำร้องนี้นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา และคณะรวม 28 คน ได้ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ระหว่างนายถวิล เปลี่ยนศรี ผู้ร้องคดีกับนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า การโอนผู้ฟ้องคดีจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาแต่งตั้งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ตามคำประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 เป็นการดำเนินการโดยมิได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายและมิได้อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ทั้งยังไม่มีเหตุผลรองรับที่มีอยู่จริงและอธิบายได้

จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบอันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับคือ วันที่ 30 กันยายน 2554 โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง (8) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ว่าผู้ถูกร้องคดีที่ 1 ควรที่จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา

ผู้ร้องเห็นว่า ปัจจัยสำคัญในการโอนนายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เชื่อได้ว่าเป็นตามประสงค์ที่จะให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ดำรงอยู่ในขณะนั้นว่างลง เพื่อแต่งตั้งให้บุคคลอื่นดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน โดยปรากฏพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนเองและเครือญาติตลอดจนพรรคเพื่อไทยที่ผู้ถูกร้องสังกัดอยู่

จึงเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ในการแต่งตั้งหรือโอนข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง และเป็นการให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมืองพ้นจากตำแหน่ง โดยมิใช่การกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และมิได้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) อย่างขัดแย้ง มีผลทำให้การเป็นนายกรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว กรณีตามคำร้องเป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ประกอบมาตรา 182 วรรคสาม ที่บัญญัติให้สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อต่อประธานแห่งสภา ที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลง และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ โดยให้นำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และมาตรา 92 มาใช้บังคับกับการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีว่ามีการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) หรือไม่ 

และเมื่อคำร้องนี้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาและประธานวุฒิสภาได้ส่งคำร้องศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะรับไว้พิจารณาวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับสำเนาคำร้อง

เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น มีคำให้สัมภาษณ์ของนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค เพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายถวิล จะยื่นร้องคัดค้านการโยกย้ายไม่เป็นธรรมว่า อยากให้ นายถวิล กลับไปศึกษาข้อกฎหมายให้ดีเสียก่อน เพราะการโยกย้ายข้าราชการระดับ 11 นั้น เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 11 (4) ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่ามีความ พยายามที่จะนำเรื่องดังกล่าวมาเป็นประเด็นการเมือง เพื่อหวังให้กระทบกับภาพลักษณ์ของรัฐบาล หรือนำไปเป็นประเด็นให้ฝ่ายค้านนำไปขยายผลมากกว่า

เราจะย้อนเวลากลับไปอีกนิดด้วยข่าวจากไทยรัฐออนไลน์เมื่อ 6 กันยายน 2556 

ย้อนเวลากลับไป ในวันที่ 6 ก.ย. 2554 นับถึงวันนี้ (6 ก.ย. 2556) ครบรอบ 2 ปีเต็ม พอดิบพอดี ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ครม.มีคำสั่งเห็นชอบให้ย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตำแหน่งในขณะนั้น โยกไปดำรงตำแหน่ง เป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ขณะที่สังคมต่างก็ทราบดีว่า เป็นการถูก "เด้งเข้ากรุ" ท่ามกลางข้อครหาทางการเมืองในขณะนั้นว่า ต้องการเปิดทางให้กับบุคคลอื่น เข้ามาดำรงตำแหน่งซึ่งความสำคัญ ด้านความมั่นคงของประเทศแทน

นายถวิล ต้องตัดสินใจใช้ความหาญกล้าอย่างที่สุด ยื่นฟ้องร้อง ตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งร้องไปที่ คณะกรรมพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) แบบที่ภาษาชาวบ้าน เรียกว่าชนิด "ยืนซัดแลกกันแบบหมัดต่อหมัด" กับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อเป้าหมาย "ร้องขอความเป็นธรรม" เนื่องจากเห็นว่า คำสั่งโยกย้ายนั้นมิชอบ เพราะตนไม่มีความผิด หรือ พบมีข้อบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด ขนาด ก.พ.ค.ในขณะนั้น สั่งยกคำร้อง เพราะเห็นว่า การดำเนินการของรัฐบาล ไม่เข้าข่ายความผิด

แต่ นายถวิล ก็ยังไม่ยอมแพ้! ตัดสินใจเข้าร้องต่อศาลปกครองทันที ส่งผลทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องกลายมาเป็นจำเลยที่ 1 ขณะที่ ก.พ.ค. ต้องตกมาเป็นจำเลยที่ 2 แล้วเรื่อง คดีก็ต่อสู้กันไปตามกฎหมาย

จนในที่สุด เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2556 ศาลปกครองกลาง ได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 635/2555 ที่นายถวิล เปลี่ยนศรี ผู้ฟ้องคดี ต่อ นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ได้มีคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 ลว 7 ก.ย. 2554 ให้ผู้ฟ้องคดี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วย กับคำสั่งดังกล่าว จึงได้ยื่นเรื่อง ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ตามคำร้อง ลว 12 ก.ย. 2554 ซึ่งต่อมา ก.พ.ค. มีหนังสือ ลว 10 เม.ย.2555 แจ้งยกคำร้องทุกข์ ทำให้ได้รับความเสียหาย จึงได้นำเรื่องมาฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอความเป็นธรรม

ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้ยกเลิกคำสั่งย้าย"นายถวิล"ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ และให้ย้ายกลับมาดำรงตำแหน่ง"เลขาธิการ สมช."โดยเร็ว โดยศาลเห็นว่า การรับโอนเป็นไปอย่างรีบเร่ง และไม่ชอบด้วยจริยธรรมถึงตรงนี้ เรื่องก็น่าจะจบลงด้วยดี 

แต่เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และทางปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ต่อ ศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าว ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เพราะ นายถวิล ต้องฝันค้าง กลายเป็นเหมือนถูกติดดิสเบรก ยังไม่สามารถกลับมานั่งตำแหน่งเลขา สมช. ซึ่งตอนนี้ มี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาฯ สมช.คนปัจจุบัน นั่งอยู่ได้ นายถวิลก็ยังต้องร้องเพลงรอต่อไป

สำหรับ นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผย ความรู้สึกกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ว่า พอเรื่องมันผ่าน ก.พ.ค. ผมก็ไปฟ้องศาลปกครอง นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 ก.พ.ค.เป็นผู้ถูกร้องที่ 2 ทีนี้ศาลปกครองกลาง มีคำวินิจฉัยออกมาให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ผม ขณะที่นายกรัฐมนตรี ก็ตัดสินใจ ยื่นอุทธรรณ์คดี ส่วนทาง ก.พ.ค.ไม่อุทธรณ์ ตอนนี้ศาลปกครองสูงสุด ก็แจ้งมาที่ผมว่า ศาลฯ ได้ยุติ การแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว ในวันที่ 6 ก.ย.(วันนี้) เป็นวันสุดท้าย ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของศาลฯ คือ ยุติไม่รับข้อเท็จจริงทางคดี จากคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย แล้ว จากนี้ไป ศาลปกครองสูงสุด ก็จะนัดพิจารณาคดี โดยจะแจ้งให้คู่ความรับทราบภายใน 7 วัน ซึ่งผมก็รออยู่ แล้วทางนายกรัฐมนตรีเอง ก็ไม่มีการยื่นข้อเท็จจริงใหม่ เข้าไปให้ศาลพิจารณาเช่นกัน เรื่องมันก็น่าจะจบก็รอศาลฯ พิจารณา เพราะความจริง คดีมันก็มีกรณีเทียบเคียงคดีของ ท่านพีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดมหาดไทยได้ ซึ่งสุดท้าย นายกรัฐมนตรีก็ไม่อุทธรณ์เรื่องมันก็จบ แต่มากรณีผม ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อุทธรณ์ แล้วทางฝั่ง นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ก็บอกว่า กรณีของผมมันจะกระทบกับการบริหารราชการแผ่นดิน กลายเป็นไม่ใช่มาตรฐานเดียวกัน เพราะมีความพยายามชี้ว่า ผมยังไม่เกษียณ แต่ส่วนตัวดูแล้วประเด็นว่า"เกษียณหรือไม่เกษียณ"มันน่าจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน (เกษียณอายุราชการ 30 ก.ย. 2557 )

ถามว่า ถ้า ครม.มีมติฯ คืนตำแหน่งแล้ว ส่วนตัวจะฟ้องกลับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี กัับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า ถ้าจะฟ้องก็ฟ้องได้ ฟ้องกรณีผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ปฏิบัติ หรือ ไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามที่ท่านกล้านรงค์ จันทิก เลขาธิการ ป.ป.ช. ได้กรุณาเปิดประเด็นเอาไว้ให้ ก็ต้องขอขอบคุณ ถ้า ปปช.ไต่สวนแล้วมีมูลก็จะถึงขั้น นายกฯ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็จะลามไปถึง ครม.อีก ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งคณะ เรื่องใหญ่เลยทีนี้ แต่ในความเห็นผม "ผมเป็นข้าราชการมาตลอดชีวิต 30 กว่าปี ผมเห็นว่า การพ้นไปของคณะรัฐบาล ครม.มันน่าจะเกิดขึ้น เพราะความผิดพลาดจากการบริหารงาน การทุจริตคอร์รัปชัน อาทิ ทำบ้านเมืองเจ๊งไป เพราะนโยบายรับจำนำข้าว มันถึงจะเหมาะสม แต่ถ้านายกฯ ต้องพ้นไป ครม.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะกรณีโยกย้ายข้าราชการคนหนึ่ง ระดับซี 11 ทั้งที่ความจริง ผมเป็นผู้เสียหาย ก็ไม่เห็นด้วย เพราะความจริงมันถือเป็นแค่ความผิดทางเทคนิค นึกออกไหม? ก็ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น" ส่วน ศาลปกครองสูงสุด จะตัดสินคดี ก่อนที่จะถึงวันเกษียณอายุราชการของตน ( 30 ก.ย. 2557) หรือไม่ ส่วนตัวยังไม่สามารถบอกได้ เพียงแต่ถ้าดูตามขั้นตอนที่ศาลปกครองกลางพิจารณามา เป็นขั้นตอนที่ไม่นานนัก หลังจากยุติการหาข้อเท็จจริง ก็นัดพิจารณาคดีครั้งแรก หลังจากนั้นไม่เกิน 20 วันก็ตัดสิน ฉะนั้นคิดว่า ถ้าเป็นไปตามนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่า เป็นไปตามขั้นตอนนี้หรือไม่? ถ้าเป็นไปตามขั้นตอน ศาลปกครองสูงสุด ก็น่าจะมีผลออกมาเร็ว ๆ นี้ ก็ไม่รู้ว่านานเท่าไหร่ แต่มั่นใจว่า ผลจะออกมาก่อนที่ผมจะเกษียณอายุราชการ เพราะได้ร้องไปที่ศาลฯ แล้วว่า ถ้าการเยียวยา การคืนตำแหน่งให้ไม่ปรากฏตามข้อเท็จจริง ก็จะเป็นการทำร้ายจิตใจ แล้วต่อไปฝ่ายบริหารก็จะอาศัยไม้ หรือ จุดอ่อนตรงนี้ มาเยื้อคดีให้ถึงที่สุด เพราะผู้ถูกย้ายโดยไม่เป็นธรรมพ้นตำแหน่งไปแล้ว ก็ "ชีช้ำกะหล่่ำปลี"

ผมจึงร้องขอศาลว่า"ควรเร่งพิจารณาคดี เพื่อให้เป็นตัวอย่างต่อไปว่า ผู้มีอำนาจจะไม่ใช้วิธีนี้ ทำให้ต้องพ้นเกษียณอายุราชการไป

". http://www.charuaypontorranin.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539241815&Ntype=3

**************

แล้วก็ดูข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่ตามต่อมาในกรณีนี้

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.57 เมื่อเวลา 14.50 น. ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แก่นายถวิล เปลี่ยนศรี ภายใน 45 วัน โดยเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมรองรับ จึงเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฏหมาย

โดยการอ่านคำพิพากษาดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เวลา 13.10 น. โดยกำหนดกรอบวินิจฉัย 2 ประเด็น ได้แก่ คำสั่งนายกรัฐมนตรี ให้นายถวิลไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประกาศให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. มีความชอบด้วยกฏหมายหรือไม่

ศาลชี้ว่าคำสั่งนายกรัฐมนตรีตกไป หลังมีประกาศแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ส่วนประเด็นกระบวนการโอนย้ายและแต่งตั้งนายถวิลนั้น ศาลเห็นว่า กระทำโดยถูกต้องทั้งรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการที่กำหนดไว้ และยืนยันในอำนาจต่อการตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหาร ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ แต่ศาลพิเคราะห์กระบวนการโอนย้ายนายถวิลแล้ว เห็นว่า มิได้มีการให้เหตุผลของการโอนย้ายตามสมควร แม้ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีจะมีลักษณะงานคล้ายกัน แต่แตกต่างกันที่สายบังคับบัญชาต่างกัน เพราะเลขาธิการ สมช. ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี แต่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ขึ้นตรงแค่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมรองรับ เป็นการทำลายศักดิ์ศรีและไม่มีคุณธรรม

ศาลปกครองจึงเห็นชอบคำสั่งเพิกถอนของศาลปกครองในชั้นต้นให้มีผลย้อนหลัง เท่ากับนายถวิลได้รับตำแหน่งเลขาธิการ สมช. และต้องคืนตำแหน่งภายใน 45 วัน

ส่วนผลสรุปในตอนจบของผู้กระทำความผิดนั้น ต้องย้อนกลับไปอ่านในตอนต้นครับ

นี่ไงครับ อำนาจนอกระบบ ที่แท้จริง

ที่คนเสื้อแดงร่ำร้องอยากจะทำลายให้สูญสิ้นไปจากประเทศไทย
และกำลังจะเกิดขึ้นจริงตามคำเรียกร้องในไม่ช้า


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ผ่านไปอีก 1 ปี

วงล้อการเมืองเริ่มหมุน

จักรกลการเมือง