ความหวังยังมี?



ในทุกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา ย่อมทำให้เกิด "ความหวัง" ขึ้นมาเสมอ ว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นเรื่องใดก็ตาม แต่จากอดีตอันยาวนานที่ผ่านมาเรายังพอจะสรุปได้ว่า ในความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่เคยมีเชื้อไฟใดที่จะสามารถจุดประกายไฟแห่งความหวังให้กับประชาชนได้เลยว่า เราจะมีรัฐบาลที่ดีขึ้น เราจะมีนักการเมืองที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น นั่นหมายความถึงนักการเมืองที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารการปกครองอย่างแท้จริง นักการเมืองที่มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีจิตวิญญาณของความเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน มีนักการเมืองที่ทำหน้าที่ "ผู้แทนราษฎร" อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คนคนหนึ่งที่ต้องการมีอำนาจวาสนาเพื่อที่จะเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์จากประเทศชาติโดยปราศจากความละอายใจ แน่นอนว่า ด้วยความหน้าด้านแบบไร้สรรพสัตว์หรือสรรพสิ่งใดมาเปรียบเทียบได้

กาลเวลาที่ผ่านมาทำให้เราก้าวข้ามนักการเมืองรุ่นเก่าที่อุดมไปด้วยอิทธิพลมืดร้อยแปด แต่เรากลับเข้าไปจมปลักอยู่กับนักการเมืองที่มาจากกลุ่มนายทุนที่ใช้เงินซื้อหาทุกอย่างไม่เลือกหน้า ตั้งแต่พรรคการเมือง นักการเมือง ประชาชนบางกลุ่ม หรือแม้กระทั่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ได้ และนายทุนเหล่านี้ก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารปกครองประเทศ เปลี่ยนแปลงประเทศให้กลายเป็น บรฺิษัท มหาชน จำกัด เปลี่ยนแปลงสถานะภาพของประชาชนให้กลายเป็นเพียงลูกค้าเท่านั้น ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง หากลูกค้าไม่มีเงินก็ไม่สมควรเข้ามาซื้อหาอะไรจากตลาดได้ทั้งสิ้น และในการค้านั้นก็จะจะต้องมีผลกำไรเกิดขึ้นกับ "เจ้าของบริษัท" ไม่ใช่กับตัวบริษัทที่เรียกว่าประเทศ

บ้านเมืองจมปลักอยู่กับนรกมาเนิ่นนาน การกอบกู้บ้านเมืองจากนรกเกือบจะกลายเป็นการลุยฝ่านรกไปจริงๆ เมื่อมีการใช้เงินทองมาเป็นปัจจัยในการป้องกันสถานภาพทางการเมืองของกลุ่มตนในทุกวิถีทาง  และวิธีการที่ได้ผลดีที่สุดก็คือการปลุกเร้าให้ประชาชนออกสู่แนวหน้าด้วยยการสนับสนุนเงินทองเพียงอย่างเดียว "ไม่ใช่การสนับสนุนด้วยหลักฐานตามความเป็นความจริง" บ้านเมืองเกือบจะลุกเป็นไฟจากการปลุกปั่นโดยไร้ความปราณี และด้วยความช่วยเหลิอจากเทคโนโลยี่สมัยใหม่ รวมถึงการใช้กระบวนการที่ซับซ้อนทางการเมืองระหว่างประเทศ

ปัญหาสำคัญที่ประเทศเราจะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนก็คือ กระบวนการทางการศึกษานั่นเอง และควรจะต้องยอมรับได้แล้วว่า พื้นฐานทางการศึกษาของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำจนลากไปกับพื้นดินมาหลายปีแล้ว อันเนื่องมาจากบุคคลในระดับชนชั้นนำและผู้ปกครองเกรงว่าประชาชนทั่วไปจะมีความรู้เท่าทันตน หรือมีวิวัฒนาการที่ก้าวทันกระบวนการโกงกินบ้านเมืองของผู้ปกครอง ดังนั้น กระบวนการทางการศึกษาของไทยจึงเป็นไปอย่างสะเปะสะปะไร้ทิศทาง มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแทบตลอดเวลาจนบุคลากรทางการศึกษามีสภาพเหมือนกับคนงานในโรงงานที่จะต้องมีความระมัดระวังสถานภาพของตนเองตลอดเวลา ว่าจะไม่ถูกไล่ออกเพราะข้อกล่าวหาที่ว่าไร้ประสิทธิภาพ  ผู้บริหาร ผู้สอน ผู้เรียน ถูกประเมินผลด้วยหลักการที่สับสนวุ่นวาย และ "ไร้สาระ" มาโดยตลอด

และให้ความสำคัญของ "ผู้เรียน" ไว้ในลำดับสุดท้ายของตารางข้อมูลที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบในการตัดสินใจของทุกเรื่องราว แต่ไปเน้นให้ความสำคัญกับสถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นมาแข่งขันกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผลิตบุคลากรที่ไร้ความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงออกมาเกลื่อนตลาดแรงงาน แต่กลุ่มนักวิชาการกลับปิดกั้นตนเองไว้ในกะลาครอบที่มีอยู่ ไม่ยอมรับความจริงที่ว่า กระดาษที่เรียกกันว่า ใบรับรองคุณวุฒินั้น สามารถซื้อหาได้ในราคาไม่กี่บาทจากทุกซอกทุกมุมของประเทศไทย

ความจริงบางเรื่อง คนไม่อยากจะมองเห็นหรือพูดถึงมัน ทำเหมือนกับว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น หรือมันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่ามันมีอยู่จริงและจับต้องได้

ถ้าแผ่นดินนี้มีผู้นำประเทศที่กล้ายอมรับความจริง

ประเทศชาติคงจะย่อยยับไปในไม่ช้า หากรัฐบาลยังคงมองเห็นความสำคัญเรื่องการศึกษาของประชาชนว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เทียบเท่ากับความสำคัญทางเศรษฐกิจที่สามารถสร้างความร่ำรวยให้กับผู้คนเพียงไม่กี่ตระกูลเท่านั้น

งบประมาณแผ่นดินจำนวนมากมายมหาศาลทุ่มเทลงไปเพื่อขยายผลความเติบโตให้กับธุรกิจของคนเพียงไม่กี่คนในแผ่นดิน ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ประชาชนยังคงเดินลุยฝ่าไปบนถนนฝุ่นคละคลุ้งในหน้าร้อนไล่จับเขียด กิ้งก่า หรือต้องลุยฝ่าโคลนตมเดินทางไปในฤดูฝน หรือการต้องลุยฝ่ากระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวจนเปลี่ยนถนนให้เป็นแม่น้ำในฤดูน้ำหลาก

พวกเขายังคงมีสิทธิในความเป็นประชาชนอยู่หรือไม่?

ทำไมกลุ่มนายทุนจำนวนเพียงน้อยนิดในสังคมจึงได้รับสิทธิพิเศษเหล่านั้น

โดยที่ประชาชนเกือบทั้งแผ่นดินยังคง

ไร้ซึ่งความหวัง ... ต่อไป




โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ผ่านไปอีก 1 ปี

วงล้อการเมืองเริ่มหมุน

จักรกลการเมือง